ความเป็นมาของโครงการ

ประเทศไทยได้รับการกล่าวขานว่าเป็นหนึ่งในบรรดาประเทศที่มีการกระทำทารุณกรรมสัตว์และเพิกเฉยต่อความสำคัญในสวัสดิภาพสัตว์ซึ่งมีผลกระทบต่อสัตว์ป่า สัตว์บ้าน (สัตว์เลี้ยง) สัตว์เศรษฐกิจ และสัตว์ทดลอง และได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีสุนัขและแมวจรจัดเป็นจำนวนมาก

จากพฤติกรรมดังกล่าวทำให้มีการร้องเรียนจากประชาชนในประเทศและจากนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมากที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย พฤติกรรมการทารุณสัตว์มีลักษณะต่าง ๆ เช่น การกักขังไว้ในที่เลี้ยงที่คับแคบ การทรมานในการเลี้ยงดู การฝึกสัตว์อย่างทรมานเพื่อนำไปแสดง การปล่อยปละละเลยโดยขาดอาหารและที่อยู่อาศัยซึ่งสัตว์ที่ถูกทารุณรวมทั้งช้าง เสือ หมี ลิง ชะนี งู และสัตว์อื่นๆ มีให้เห็นอยู่ทั่วไป

สถานการณ์การทารุณสัตว์ในประเทศไทยได้กลายเป็นเรื่องระดับโลกและนำความเสื่อมเสียชื่อเสียงมาสู่ประเทศไทยและเคยมีการคว่ำบาตรจากประเทศคู่ค้า

สัตว์จำนวนมากได้สูญพันธุ์ไปอันเนื่องจากการกระทำของมนุษย์ รวมทั้งการล่าเพื่อกีฬา เพื่อการค้า หรือเพื่อการแสดงในเชิงพาณิชย์ ซึ่งสัตว์โดยทั่วไปย่อมมีเลือดเนื้อและความรู้สึก กล่าวคือ ความรัก ความโดดเดี่ยว ความพลัดพราก ความกลัว ความเจ็บปวด ความรู้สึกไม่สะดวกสบาย ตลอดถึงความหิวกระหาย เช่นเดียวกับมนุษย์เราโดยทั่วไป ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือว่าเป็นการทารุณตามมาตรฐานที่ปฏิบัติกันในสังคมอารยะนานาชาติ

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาอีกมากมายซึ่งเป็นการเปิดช่องให้เกิดการทารุณสัตว์ในประเทศไทย กล่าวคือ ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายแม่บทในการป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ และการบังคับใช้กฎหมายก็ยังอ่อนโดยมีการปล่อยปละละเลยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมๆกับประชาชนทั่วไปก็ยังไม่มีความรู้และจิตสำนึกในการปฏิบัติต่อสัตว์เช่นเดียวกับสาธุชนที่มีศาสนาทั้งหลาย

สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) ได้ดำเนินงานรณรงค์ป้องกันการทารุณสัตว์และส่งเสริมสวัสดิภาพสัตว์ในประเทศไทยมาเป็นเวลากว่าทศวรรษโดยมีประสบการณ์และบทเรียนมากมายเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว จึงในปัจจุบันได้ริเริ่มโครงการป้องกันการทารุณและส่งเสริมสวัสดิภาพสัตว์โดยมีกลยุทธ์ที่สำคัญ ๆ อาทิ การให้ความรู้และปลูกจิตสำนึกประชาชนและนักเรียน นักศึกษา การรณรงค์ผลักดันกฎหมายป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ การจัดโครงการบ้านอุปถัมภ์และอื่น ๆอีกมากมาย