ครม.พิจารณาอนุมัติกฎหมายป้องกันการทารุณสัตว์

ครม.พิจารณาอนุมัติกฎหมายป้องกันการทารุณสัตว์

กว่า 20 ปีที่รอคอย ในที่สุดคณะรัฐมนตรีก็มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ…… ซึ่งเป็นฉบับที่สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย

(TSPCA) และกรมปศุสัตว์ได้บูรณาการรวมร่างนำเสนอกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เมื่อปลายปี 2551 ซึ่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว ถ้าผ่านกระบวนการพิจารณากฎหมายของรัฐสภาแล้ว ก็จะเป็นกฎหมายป้องกันการทารุณกรรมและจัดสวัสดิภาพสัตว์ฉบับแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย

นายสวรรค์ แสงบัลลังค์ เลขาธิการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย

(TSPCA) ได้กล่าวว่า “นับเป็นข่าวดีเบื้องต้นสำหรับประชาชนผู้รักสัตว์ในประเทศ เพราะในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 มีนาคม ที่ผ่านมา ได้มีการพิจารณารับหลักการ พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว ซึ่งทางสมาคมฯ ได้ร่วมมือกับกรมปศุสัตว์ได้นำร่างเสนอเข้าสู่การพิจารณาอนุมัติของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยมีองค์กรภาครัฐและเอกชน สถาบันการศึกษาและตัวแทนจากภาคประชาชนผู้รักสัตว์กว่า 60 องค์กรทั่วประเทศเข้ามีส่วนร่วมโดยสภาทนายความช่วยพิจารณากลั่นกรองฉบับร่างในส่วนของสมาคมฯ และต่อมาได้รับการบูรณาการรวมเป็นร่างเดียวกันกับของกรมปศุสัตว์พร้อมได้รับความเห็นชอบจากกระทรวง ทบวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก่อนนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีและได้รับการพิจารณาอนุมัติในที่สุด ซึ่งขั้นตอนต่อไปก็จะเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา”

เลขาธิการสมาคมฯ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “ภาพลักษณ์ของประเทศไทยในระยะกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ได้มีสภาพการทารุณสัตว์เป็นที่กล่าวขานของนานาประเทศทั่วโลก นับตั้งแต่การลักลอบค้าสัตว์ป่าในประเทศไทยและประเทศใกล้เคียง โดยใช้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าและต่อมาก็มีการกีดกันทางการค้าในกลุ่มประเทศอียูอันเนื่องจากผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ของไทยไม่ได้มาตรฐานสากลอันเนื่องจากกระบวนการจัดการสวัสดิภาพสัตว์ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งรวมตั้งแต่การเลี้ยงสัตว์ การใช้งานสัตว์ การขนส่งสัตว์ การฆ่าและการชำแหละ ฯลฯ รวมตลอดถึงสัตว์เลี้ยงและสัตว์บ้านโดยทั่วไป ก็ยังไม่มีกฎหมายใดๆ ควบคุมดูแลจนก่อให้เกิดสภาพการทารุณสัตว์ในรูปแบบต่าง ๆ จนปัจจุบันได้มีสุนัขและแมวถูกทอดทิ้งและถูกกระทำทารุณนับเฉพาะกรุงเทพฯ มีมากกว่า 300,000 ตัว ซึ่งไม่นับเมืองอุตสาหกรรมและเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญอื่น ๆ ของประเทศ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขอนามัยและสภาพแวดล้อมของชุมชนที่เกิดจากสัตว์จรจัดมากมาย อาทิ โรคพิษสุนัขบ้า โรคฉี่หนู การก่อมลพิษในชุมชน อุบัติเหตุทางรถยนต์และปัญหาด้านสาธารณสุขอื่น ๆ นอกจากนี้ยังมี รายงานข่าวและการร้องเรียน จากทุกส่วนของประเทศและองค์กรพิทักษ์สิทธิสัตว์ต่างประเทศเกี่ยวกับสภาพการทารุณสัตว์ในแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ๆ ของไทยทั้งในสวนสัตว์ภาคเอกชนและของรัฐ ตลอดถึงการนำสัตว์ออกมาใช้ในกิจกรรมท่องเที่ยวและการหารายได้ให้ได้เห็นภาพการทารุณสัตว์อย่างไม่มีการจบสิ้นดังเช่นปัญหาของช้างในปัจจุบัน”

นายสวรรค์ แสงบัลลังค์ เลขาธิการสมาคมฯ ได้กล่าวสรุปถึงสาระสำคัญของ พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรม และ พัฒนาสวัสดิภาพสัตว์ว่า

เป็น พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์โดยครอบคลุมสัตว์ 4 ประเภท กล่าวคือ

สัตว์บ้าน / สัตว์เลี้ยง สัตว์เศรษฐกิจ (ปศุสัตว์) สัตว์ป่า (สัตว์สงวน / สัตว์คุ้มครอง สัตว์ป่าทั่วไป…

(ทั้งสัตว์น้ำและสัตว์บก) ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535) และสัตว์ทดลอง

มีนิยามคำว่า “ทารุณกรรม” ชัดเจน (โดยกำหนดว่าทำอย่างไรเรียกว่าทารุณ อย่างไรไม่เรียกว่าทารุณ) มีข้อกำหนดให้มี

  1. การจัดตั้งสถานสงเคราะห์สัตว์เพื่อจัดระเบียบสัตว์จรจัดและสัตว์ที่ถูก กระทำทารุณทั่วประเทศ
  2. กำหนดบทบาทหน้าที่และมอบอำนาจให้องค์กรพัฒนาเอกชน(NGOs) ด้านการป้องกันการทารุณสัตว์ให้สามารถดำเนินการทางกฎหมายเกี่ยวกับผู้ละเมิดสิทธิสัตว์ได้
  3. กระจายอำนาจการบังคับใช้กฎหมายให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ เพื่อให้การบังคับใช้ กฎหมายมีประสิทธิภาพ ทั่วถึงและ
  4. มีการจัดตั้งกองทุนสนับสนุนและส่งเสริมกิจกรรมการป้องกันการทารุณสัตว์และคุ้มครองสวัสดิภาพสัตว์ขึ้นในประเทศไทยมีข้อกำหนดขอบเขตและประเภทการทารุณกรรมสัตว์ไว้อย่างชัดเจนตามมาตรฐานสากลทั้งสัตว์บ้าน สัตว์เศรษฐกิจ สัตว์ป่า และสัตว์ทดลอง

(หมวด 6 ส่วนที่ 1 มาตรา 45 ) มีข้อกำหนดขอบเขตและประเภทการจัดสวัสดิภาพสัตว์ไว้อย่างชัดเจน ตามมาตรฐานสากล อาทิ การเลี้ยงสัตว์ การฝึกและการใช้งานสัตว์ การขนส่งสัตว์ การควบคุมและ กักขังสัตว์ การฆ่าและชำแหละสัตว์ การนำสัตว์มาใช้ในงานแสดง การโฆษณา และใช้เป็นรางวัล ฯลฯ

(มาตรา 46,47 และ 48)มีข้อกำหนดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการควบคุมและส่งเสริมมาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ เพื่อให้มีการพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์อย่างจริงจังและต่อเนื่องขึ้นในประเทศ เพื่อส่งเสริมเกษตรอุตสาหกรรม การ ส่งออกซึ่งจะเป็นการสนับสนุนการ พัฒนาสวัสดิภาพทางสังคมและสิ่งแวดล้อมของประเทศ (หมวด 8 / ส่วนที่ 2 มาตรา 64,65,66,67,68,70) มีบทกำหนดโทษการละเมิดสิทธิสัตว์ การกระทำทารุณต่อสัตว์และการไม่จัดให้มีสวัสดิภาพสัตว์ โดยบทลงโทษมีความชัดเจนและเหมาะสมเป็นไปตามหลักสากล สามารถใช้ทดแทนประมวลกฎหมายอาญาเดิมที่ระบุการลงโทษที่เพียงบางเบา ซึ่งไม่สามารถปราบปราม ผู้กระทำผิดได้ กล่าวคือ ลงโทษจำคุกสูงสุดเพียง 1 เดือน ปรับสูงสุด 1 พันบาท (มาตรา 381 และ 382) ส่วนร่าง พ.ร.บ.ใหม่มีการกำหนดบทลงโทษหรือปรับอย่างต่ำ 10,000 บาท จำคุก 6 เดือน จนสูงสุดปรับ ถึง 100,000 บาท จำคุกสูงสุด 5 ปี (หมวด 10 บทกำหนดโทษ : มาตรา 77,78,79,80,81,82,83,84)

ทั้ง 7 ประเด็นนี้ นับว่ามีความสำคัญยิ่งต่อกระบวนการป้องกันการทารุณกรรมและการพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์ที่มีปัญหามายาวนานในประเทศไทย และมีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและ สังคมของประเทศนอกเหนือจากการยกระดับทางจริยธรรมของประชาชนที่มีต่อสัตว์ ดังที่มหาตม คานธี อดีตรัฐบุรุษของประเทศอินเดียได้กล่าวว่า “ความยิ่งใหญ่และความเจริญในจริยธรรมและศีลธรรม ของชาติหนึ่งชาติใดนั้น สามารถวัดได้จากพฤติกรรมที่แสดงออกและการปฏิบัติต่อสัตว์”