รายงานการประชุมคณะกรรมการจัดการประกวดหนังสือเสริมประสบการณ์

รายงานการประชุมคณะกรรมการจัดการประกวดหนังสือเสริมประสบการณ์ เกี่ยวกับการส่งเสริมสวัสดิภาพและป้องกันการทารุณสัตว์ ครั้งที่ 1 / 2552
วันที่ 23 มีนาคม 2552 เวลา 9.30 – 12.30 น.
ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 2 อาคาร สพฐ. 4

ผู้เข้าประชุม
คณะกรรมการพิจารณาตัดสินการประกวดหนังสือบันเทิงคดี ประเภทร้อยกรองสำหรับเด็กก่อนวัยรุ่น (อายุ 12-14 ปี) และสำหรับเด็กวัยรุ่น (อายุ 15 ปี ขึ้นไป)

1. คุณหญิงกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ ประธานกรรมการ

2. ม.ร.ว.อรฉัตร ซองทอง กรรมการ

3. นายอเนก แจ่มขำ กรรมการ

4. นายสมบัติ กิ่งกาญจนวงศ์ กรรมการ

5. นางพันธุ์อร จงประสิทธิ์ กรรมการ

6. นางจงจิต นิมมานนรเทพ กรรมการ

7. นางสาวพริ้มเพรา คงธนะ กรรมการและเลขานุการ

8. นางบุญเรือน พุกสวัสดิ์ กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

คณะกรรมการพิจารณาตัดสินการประกวดหนังสือบันเทิงคดี ประเภทร้อยแก้ว สำหรับเด็กก่อนวัยรุ่น (อายุ 12-14 ปี) และสำหรับเด็กวัยรุ่น (อายุ 15 ปี ขึ้นไป)

1. ศาสตราจารย์รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ ประธานกรรมการ

2. นางชมัยภร บางคมบาง (แสงกระจ่าง) กรรมการ

3. นางธารา กนกมณี กรรมการ

4. นายมานพ ถนอมศรี กรรมการ

5. นายสุริยัน สุดศรีวงศ์ กรรมการ

6. นางสาวลดาวัลย์ บุญชด กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

คณะกรรมการพิจารณาตัดสินการประกวดหนังสือบันเทิงคดี สำหรับเด็กเริ่มหัดอ่าน (อายุ 3 – 5 ปี) และหนังสือการ์ตูนสำหรับเด็กเล็ก (อายุ 6 – 11 ปี)

1. นางสาวจินตนา ใบกาซูยี ประธานกรรมการ

2. นายรงค์ ประภาสะโนบล กรรมการ

3. นายเฉลิม อัคคะพู กรรมการ

4. นายพินิจ สุขะสันติ์ กรรมการ

5. นายอนุจินต์ ลาภธนาภรณ์ กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

ผู้ไม่ได้เข้าประชุม

1. นางสาววรนาท รักสกุลไทย กรรมการ

2. นางสุพรรณี สุขะสันติ์ กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

ผู้เข้าร่วมประชุม

1. นายสวรรค์ แสงบัลลังค์

เลขาธิการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย

2. นายวิธวัช หงส์ตระกูล

เจ้าหน้าที่สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย

เริ่มประชุมเวลา 9.30 น.

วาระที่ 1 เรื่องที่ประธานหรือเลขานุการแจ้งให้ทราบ นางสาวพริ้มเพรา คงธนะ เลขานุการ แจ้งให้ทราบถึงจำนวนต้นฉบับหนังสือเสริมประสบการณ์ฯ ที่ส่งเข้าประกวดทั้งหมดมี 40 เรื่อง แยกตามประเภท ดังนี้

– หนังสือการ์ตูน ระดับเด็กอายุ 6-11 ปี มี 7 เรื่อง

– หนังสือบันเทิงคดีประเภทร้อยแก้ว ระดับเด็กอายุ 3-5ปี มี 6 เรื่อง

– หนังสือบันเทิงคดีประเภทร้อยแก้ว ระดับเด็กอายุ 12-14 ปี มี 4 เรื่อง

– หนังสือบันเทิงคดีประเภทร้อยแก้ว ระดับเด็กอายุ 15 ปี ขึ้นไป มี 2 เรื่อง

– หนังสือบันเทิงคดีประเภทร้อยกรอง ระดับเด็กอายุ 12-14 ปี มี 15 เรื่อง

– หนังสือบันเทิงคดีประเภทร้อยกรอง ระดับเด็กอายุ 15 ปี ขึ้นไป มี 6 เรื่อง

มติที่ประชุม รับทราบ

วาระที่ 2 เรื่องสืบเนื่องเพื่อพิจารณา

– สรุปผลการพิจารณากลั่นกรองคุณภาพต้นฉบับหนังสือเสริมประสบการณ์ที่

ส่งเข้าประกวด และผลการพิจารณาตัดสินของคณะกรรมการพิจารณาตัดสินการประกวดหนังสือประเภทต่าง ๆ

หลังการประชุมร่วมกันของคณะกรรมการพิจารณาตัดสินการประกวดหนังสือ 3 กลุ่ม ตามรายชื่อผู้เข้าประชุมดังกล่าวข้างต้นแล้ว ที่ประชุมได้แยกประชุม 3 กลุ่ม ผลการประชุมสรุปได้ดังนี้

1. ประเภทหนังสือการ์ตูน ระดับเด็กอายุ 6-11 ปี มีต้นฉบับส่งเข้าประกวด 7 เรื่อง ได้แก่

1) ความทรงจำนางฟ้า ผู้สร้างสรรค์ผลงานได้แก่ เด็กหญิงฐิติรัตน์ ฐปนตรีทิพยนิภา

2) มะหมา…ผู้น่าสงสาร ผู้สร้างสรรค์ผลงานได้แก่ นางสุวารีย์ โสภาชัย และนายพจนา โสภาชัย

3) คำสาป ผู้สร้างสรรค์ผลงานได้แก่ นายก้องเกียรติกองจันดี

4) เพื่อนปีศาจ ผู้สร้างสรรค์ผลงานได้แก่

นายก้องเกียรติ กองจันดี

5) มะลิจอมแก่น ผู้สร้างสรรค์ผลงานได้แก่ นายเจริญ เงินคล

6) กบขี้เหงา ผู้สร้างสรรค์ผลงานได้แก่ นางรตนพร อ่อนตา

7) ของขวัญ ผู้สร้างสรรค์ผลงานได้แก่

นายประมวลพจน์ สนิทโกศัย

คณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองคุณภาพและตัดสินโดยใช้เกณฑ์การพิจารณา 4 ด้าน คือ

1. ความสอดคล้องของเนื้อหากับวัตถุประสงค์

2. ความแปลกใหม่ของเนื้อหาและภาพ

ประกอบ

3. กลวิธีในการเสนอการจัดลำดับขั้นตอน

4. ภาพประกอบ

ผลการพิจารณาตัดสินมีดังนี้

1. ความทรงจำนางฟ้า

เนื้อเรื่องไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการประกวด การนำเสนอเนื้อหาและภาพประกอบสับสน อ่านไม่เข้าใจ ภาพประกอบเป็นลายเส้น ซึ่งได้รับอิทธิพลจากต่างประเทศมาก คณะกรรมการจึงมีมติให้เรื่องนี้ ไม่ผ่านการคัดกรอง

2. มะหมา…ผู้น่าสงสาร

เนื้อเรื่องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการประกวด แต่การดำเนินเรื่องไม่สนุกและไม่ชวนติดตาม เนื้อเรื่องให้ความรู้เรื่องการค้าสุนัข ส่วนใหญ่เป็นการนำเสนอในบทสนทนาระหว่างพ่อกับลูก ภาษาที่ใช้ในการสนทนาเป็นวิชาการมากเกินไป ไม่มีคำบรรยาย คำพูดของตัวละครมีลักษณะไม่เป็นบันเทิงคดี ภาพตัวละครไม่ค่อยแสดงท่าทางเคลื่อนไหว เรื่องจึงไม่ลื่นไหล

คณะกรรมการจึงมีมติให้เรื่องนี้ ไม่ผ่านการคัดกรอง

3. คำสาป

เนื้อเรื่องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการประกวด เป็นเรื่องของเด็กชายที่ชอบรังแกสัตว์ต่าง ๆ แต่แล้วตนเองต้องกลายเป็นหมา ต้องถูกรังแกและถูกทรมานเหมือนที่ตนเองเคยกระทำต่อสัตว์ จึงรู้สึกสำนึกที่ตนเองทำสิ่งไม่ดี ผลสุดท้ายได้กระทำความดีช่วยเหลือเพื่อนหมาด้วยกันให้พ้นภัยได้ จึงกลายเป็นคนในที่สุด เนื้อเรื่องมีจุดเด่นที่เล่าบอกความรู้สึกของสัตว์ที่ถูกทารุณกรรม เช่น สัตว์ถูกตี ถูกยิงด้วยหนังสติ๊ก ถูกทารุณด้วยวิธีต่าง ๆ แม้แต่ลูกนกยังถูกพรากจากพ่อแม่ ความรู้สึกเช่นนี้สื่อออกมาด้วยภาพ ทำให้เด็กเข้าใจความรู้สึกของสัตว์ที่ถูกทำร้ายได้ดี การลำดับเรื่องชัดเจนเข้าใจง่าย การนำเสนอเรื่องและภาพไม่สับสน ทำให้เด็กที่อ่านเกิดจินตนาการ เกิดความคิด และติดตามเรื่องด้วยความสนใจ ภาพคนมีลักษณะเอกลักษณ์เฉพาะตัว และแสดงอาการความรู้สึกทางสีหน้าและท่าทางได้ดี การแบ่งช่องในแต่ละหน้ามีความเหมาะสมกลมกลืน คณะกรรมการจึงมีมติให้เรื่องนี้ ได้รับรางวัลชนะเลิศ แต่มีข้อเสนอแนะว่า ก่อน จัดพิมพ์ควรเพิ่มเติมเรื่องบทบาทของหนูก่อนที่จะนำกุญแจมาช่วยเพื่อนหมา ในทำนองหนูอยู่ในกรงหมาด้วยและขอเป็นผู้ช่วย เป็นต้น

4. เพื่อนปีศาจ

เนื้อเรื่องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการประกวด แต่ตอนจบของเรื่องไม่ได้บอกวิธีการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น อีกทั้งยังใช้อิทธิฤทธิ์มาใส่ในเรื่อง เป็นการเปรียบเทียบแสดงถึงจิตใจใฝ่ดีกับจิตใจใฝ่ชั่ว การเปรียบเทียบเช่นนี้ยากเกินไป การเปิดเรื่องไม่มีที่มาที่ไป จึงเกิดความสับสน ตอนจบมีลักษณะจบแบบร้าย ปล่อยให้ตัวละครเอกต้องกลายเป็นปีศาจ และไม่มีการแนะนำวิธีการที่ถูกต้อง ภาษาที่ใช้ไม่ค่อยดี ส่วนภาพที่เขียนพอใช้ได้

คณะกรรมการจึงมีมติให้เรื่องนี้ ไม่ผ่านการคัดกรอง

5. มะลิจอมแก่น

เนื้อหาและการดำเนินเรื่องไม่ชัดเจนและสับสน ข้อมูลความรู้ในด้านการทารุณสัตว์มีมากเกินไป ภาษที่ใช้ไม่ค่อยดี มีคำสะกดผิดอยู่บ้าง การแบ่งช่องลำดับภาพ บางครั้งสับสน อ่านเข้าใจยาก

คณะกรรมการจึงมีมติให้เรื่องนี้ ไม่ผ่านการคัดกรอง

6. กบขี้เหงา

เนื้อเรื่องไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการประกวด ลักษณะการเขียนและการเสนอความรู้เหมาะสำหรับเป็นหนังสืออ่านเพิ่มเติมมากกว่าเป็นหนังสือบันเทิงคดี เนื้อเรื่องยาวเกินไป เป็นเรื่องข้อมูลวัฏจักรชีวิตกบมากกว่าจะเน้นการทารุณสัตว์ บางตอนมีเนื้อหารุนแรงเกินไป เด็กสามารถทำตามแบบอย่างที่ไม่ดีนี้ได้ ถ้าขาดการแนะนำที่ดี ตอนจบของเรื่องไม่สรุปข้อคิดให้ผู้อ่าน ผู้อ่านต้องคิดเอง ซึ่งยากสำหรับเด็กวัยนี้

คณะกรรมการจึงมีมติให้เรื่องนี้ ไม่ผ่านการคัดกรอง

7. ของขวัญ

เนื้อเรื่องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการประกวด ให้ความรู้ด้านการทารุณสัตว์ โดยสอดแทรกเข้ากับการดำเนินเรื่อง ภาษาที่ใช้ แม้เป็นวิชาการไปบ้าง แต่ก็ทำได้ดี ภาพตัวละครแสดงการเคลื่อนไหวดี แต่ตัวละครขาดอารมณ์ เช่น ไม่แสดงอารมณ์ทางแววตา สีสันภาพสวยงาม ฉากหลังสวยงามดี

คณะกรรมการจึงมีมติให้เรื่องนี้ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ แต่มีข้อเสนอแนะว่า ก่อนพิมพ์ควรเพิ่มเติมตัวละครแม่เข้ามาด้วย หรือให้กล่าวถึงแม่ว่าอยู่ที่ไหนเพื่อให้ครอบครัวเป็นสุข

2. หนังสือบันเทิงคดี ประเภทร้อยแก้ว ระดับเด็กอายุ 3-5 ปี มีต้นฉบับส่งเข้าประกวด 6 เรื่อง ได้แก่

1) กอดฉันหน่อยนะ ผู้สร้างสรรค์ผลงาน ได้แก่ นายสาธิต วนิชวิทย์

2) ฉันอยากได้ ผู้สร้างสรรค์ผลงาน ได้แก่ นายสมบัติ กองจันดี

3) เราเหมือนกัน ผู้สร้างสรรค์ผลงาน ได้แก่ นายก้องเกียรติ กองจันดี

4) เมื่อฉันกลายเป็นผีร้าย ผู้สร้างสรรค์ผลงาน ได้แก่ นายก้องเกียรติ กองจันดี

5) โฮ่ง โฮ่ง 7 สี ผู้สร้างสรรค์ผลงาน ได้แก่ นายนิกร กาเจริญ

6) สัตว์โลกที่น่ารัก ผู้สร้างสรรค์ผลงาน ได้แก่ นางสาวดวงจิตร์ สารีบูรณ์

คณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองคุณภาพและตัดสินโดยใช้เกณฑ์การพิจารณา 4 ด้าน คือ

1. ความสอดคล้องของเนื้อหากับวัตถุประสงค์

2. ความแปลกใหม่ของเนื้อหาและภาพประกอบ

3. กลวิธีในการเสนอการจัดลำดับขั้นตอน

4. ภาพประกอบ

ผลการพิจารณาตัดสินมีดังนี้

1. กอดฉันหน่อยนะ

เนื้อเรื่องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการประกวด เน้นความรักความอบอุ่นที่สัตว์แต่ละตัวต้องการให้เข้าไปกอด แต่การกอดสัตว์บางตัวจริง ๆ อาจเป็นอันตรายได้ เช่น กอดลิง กอดช้าง การดำเนินเรื่องบอกเล่าเรื่องสัตว์ไปทีละหน้า หน้าละหนึ่งตัว แต่ใช้ข้อความที่ไม่สละสลวยนัก ภาพที่ใช้ซ้ำ ๆ กันแทบทุกหน้า ภาพสัตว์บางตัวดูไม่รู้ว่าเป็นสัตว์อะไร

คณะกรรมการจึงมีมติให้เรื่องนี้ ไม่ผ่านการคัดกรอง

2. ฉันอยากได้

เนื้อเรื่องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการประกวด โดยเล่าถึงความรู้สึกของนกที่ถูกขังกรง การเสนอเรื่องเหมือนเป็นเพียงความคิดและความรู้สึกของนกในกรงที่สื่อสารกับนกป่าที่อยู่นอกกรงว่า ตนอยากออกจากกรงไปทำสิ่งต่าง ๆ และภาพสุดท้ายเป็นภาพออกจากกรง ซึ่งเป็นเพียงความคิดเท่านั้นไม่ใช่ความจริง การสร้างภาพมีความตั้งใจ แต่ไม่มีรายละเอียด

คณะกรรมการจึงมีมติให้เรื่องนี้ ไม่ผ่านการคัดกรอง

3. เราเหมือนกัน

เนื้อเรื่องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการประกวด เป็นการเปรียบเทียบระหว่างคนกับสัตว์ ซึ่งมีสิ่งต่าง ๆ เช่น มีส่วนของร่างกาย หู ตา จมูก สำหรับใช้งานเหมือน ๆ กัน จึงควรให้ความรักและความเมตตาต่อสัตว์ ภาษาที่ใช้อ่านเข้าใจง่าย ภาพที่ใช้เป็นภาพลายเส้นลงสีซึ่งทำได้ดี การออกแบบจัดภาพในแต่ละหน้าทำได้เหมาะสม ดูสบายตาและมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ คณะกรรมการจึงมีมติให้เรื่องนี้ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ แต่มีข้อเสนอแนะว่า ก่อนพิมพ์ควรเพิ่มรายละเอียดภาพสวนสัตว์ในหน้าเปิดเรื่องให้เป็นบรรยากาศของสวนสัตว์จริง ๆ เช่น มีกรง มีนก มีต้นไม้ เป็นต้น

4. เมื่อฉันกลายเป็นผีร้าย

เนื้อเรื่องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการประกวด แต่เนื้อเรื่องบอกแต่ว่าทำร้ายสัตว์แล้วรูปร่างจะเปลี่ยนไปเป็นปีศาจ การดำเนินเรื่องจึงไม่สมจริง เรื่องตอนจบสับสนดูไม่สอดคล้องกับเรื่องราวตอนแรก ภาพวาดไม่ค่อยดี ภาษาที่ใช้ไม่สละสลวย

คณะกรรมการจึงมีมติให้เรื่องนี้ ไม่ผ่านการคัดกรอง

5. โฮ่ง โฮ่ง 7 สี

เนื้อเรื่องไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการประกวด ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงการทารุณสัตว์ เพียงแต่บอกว่าสุนัขแต่ละตัวใส่เสื้อสีครบ 7 สี เป็นการสอนเรื่องสี แต่ตอนจบบอกว่า สุนัขต้องการความรักความเมตตาจากเจ้าของเท่านั้น ภาพเป็นภาพถ่ายของสุนัข ไม่มีการเคลื่อนไหว

คณะกรรมการจึงมีมติให้เรื่องนี้ ไม่ผ่านการคัดกรอง

6. สัตว์โลกที่น่ารัก

การนำเสนอเรื่องนี้มีลักษณะเป็นการบรรยายให้ความรู้เรื่องการทารุณสัตว์ ไม่มีการผูกเรื่อง ไม่มีตัวละคร ขาดคุณสมบัติของหนังสือบันเทิงคดี ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์การประกวด

คณะกรรมการจึงมีมติให้เรื่องนี้ ไม่ผ่านการคัดกรอง

สรุปผลการประกวดหนังสือประเภทหนังสือการ์ตูนและหนังสือบันเทิงคดี ระดับเด็กอายุ 3-5 ปี

หนังสือการ์ตูน มีต้นฉบับได้รับรางวัล 2 เรื่อง ดังนี้

รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ เรื่อง คำสาป ของ นายก้องเกียรติ กองจันดี

รางวัลรองชนะเลิศ ได้แก่ เรื่อง ของขวัญ ของ นายประมวลพจน์ สนิทโกศัย

หนังสือบันเทิงคดี ระดับเด็กอายุ 3-5 ปี มีต้นฉบับได้

รับรางวัล 1 เรื่อง ดังนี้

รางวัลรองชนะเลิศ ได้แก่ เรื่อง เราเหมือนกัน ของ นายก้องเกียรติ กองจันดี

3. ประเภทหนังสือบันเทิงคดีประเภทร้อยแก้ว ระดับเด็กอายุ 12-14 ปี มีต้นฉบับส่งเข้าประกวด 4 เรื่อง ได้แก่

1) อิสรภาพของเขียวเสวย ผู้สร้างสรรค์ผลงานได้แก่

นางศีตลา สนิทโกศัย

2) ใบเอียง ผู้สร้างสรรค์ผลงานได้แก่

นายปรุงเกียรติ เทพกุญชร

3) การผจญภัยของปุยฝ้าย ผู้สร้างสรรค์ผลงานได้แก่

นางสาวสุกัญญา อินทรีย์

นายศาสตรา แสนปัญญา และนางเบญจมาภรณ์ มะลิลา

4) 7 วัน ในโลกกะโหลกกะลา ผู้สร้างสรรค์ผลงานได้แก่

นายมงคล แท้สูงเนิน

คณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองคุณภาพและตัดสินโดยใช้เกณฑ์การพิจารณา 4 ด้าน คือ

1. ความสอดคล้องของเนื้อหากับวัตถุประสงค์

2. ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์

3. กลวิธีในการนำเสนอและการจัดลำดับขั้น

ตอน

4. สำนวนโวหารและคุณลักษณะของ

วรรณศิลป์

ผลการพิจารณาตัดสินมีดังนี้

1. อิสรภาพของเขียวเสวย

เนื้อเรื่องแสดงให้เห็นความรักความเมตตากรุณาของครอบครัวคนที่มีต่อสุนัข เขียวเสวยเป็นสุนัขที่ได้รับความโหดร้ายจากเจ้าของเดิม จึงได้มาอยู่กับเจ้าของใหม่ ผู้เขียนเล่าถึงวิธีเลี้ยง สุนัข เรื่องอ่านสนุก เห็นความน่ารักของสัตว์ เรื่องบางตอนขาดความสมจริง เช่น ตอนขโมยอ้างกับเจ้าของบ้านว่าจะมานำตัวสุนัขของเขาคืน แต่เขียวเสวยกลับเห่า ไม่ยอมให้จับ แสดงว่าไม่ใช่เจ้าของ เป็นไปไม่ได้อยู่แล้วที่ขโมยจะอ้างว่าเป็นเจ้าของสุนัข เพราะสุนัขย่อมจำขโมยได้ เรื่องนี้ให้สุนัขเป็นเพียงตัวประกอบของเรื่อง ไม่มีการแสดงออกถึงการทารุณสัตว์อย่างชัดเจนคณะกรรมการจึงมีมติให้เรื่องนี้ ไม่ผ่านการคัดกรอง

2. ใบเอียง

เป็นเรื่องของลูกช้างป่าชื่อใบเอียง ตกลงไปในเหว พวกอนุรักษ์ช้างได้ช่วยแล้วพาไปรักษาพยาบาล เมื่อหายแล้ว ครอบครัวช้างป่าพาใบเอียงกลับเข้าสู่ป่าตามเดิม

ผู้เขียนพรรณนาลักษณะและคุณสมบัติของช้างได้ละเอียด แสดงว่าผู้เขียนรู้จักช้างดีมาก เข้าใจอารมณ์ต่างๆ และการแสดงออกของช้างได้ดี ราวกับเข้าไปอยู่ในหัวใจช้าง เนื้อเรื่องเน้นถึงความเมตตากรุณาที่คนมีต่อสัตว์ ไม่มีการแสดงความโหดร้ายต่อสัตว์ แสดงให้เห็นถึงความผูกพันระหว่างช้างกับช้าง ความเชื่อมโยงระหว่างคนกับช้าง มีการเปรียบเทียบกันระหว่างช้างป่ากับช้างเลี้ยง นอกจากนี้ผู้เขียนยังเปรียบเทียบครอบครัวของช้างกับครอบครัวของคน ช้างแต่ละตัวมีแม่หลายแม่ แม่เหล่านั้นก็รักลูกใหม่ของเขาโดยไม่จำเป็นต้องเป็นลูกตัว ช้างทุกตัวในฝูงจะตั้งใจประคับประคองลูกช้างที่เกิดใหม่ ปัญหาเรื่องช้างเป็นปัญหาร่วมสมัยของไทย เรื่องนี้จึงมีเนื้อหาในด้านสร้างสรรค์ ผู้เขียนนำเสนอให้เห็นว่ายังมีกลุ่มคนอีกกลุ่มหนึ่งที่รักสัตว์มาก อุทิศตนให้แก่สัตว์ คนกลุ่มนี้จะไปฝังตนอยู่ในป่า ดูแลสัตว์ด้วยหัวใจรักอย่างแท้จริง เนื้อเรื่องแม้จะกล่าวถึงช้างป่าก็จริง แต่ได้มีการกล่าวถึงปัญหาเรื่องช้างอย่างครอบคลุม ทั้งช้างป่า ช้างใช้งาน ช้างที่มาเดินเร่ร่อนตามถนนในเมือง และช้างในการแสดง ผู้เขียนมีความสามารถทางวรรณศิลป์ ใช้ภาษาละเมียดละไม สามารถบรรยายและพรรณนาได้เห็นภาพ ได้ยินเสียง บรรยายถึงป่าจนราวกับได้กลิ่นอายและเห็นสีสันของป่า

คณะกรรมการจึงมีมติให้เรื่องนี้ ได้รับรางวัลชนะเลิศ

3. การผจญภัยของปุยฝ้าย

เนื้อเรื่องกล่าวถึงคนจับลูกชะนีมาเลี้ยงเป็นของเล่น ให้นุ่งกระโปรงสีชมพู ทาแก้ม แสดงให้เห็นความทารุณที่นักล่าต้องฆ่าแม่ชะนีจึงจะจับลูกมาได้ คนที่เลี้ยงก็ไม่ได้เลี้ยงสัตว์ตามธรรมชาติ ถือเป็นการทารุณอีกแบบหนึ่ง ลูกชะนีที่คนนำมาเลี้ยงหนีไป จากนั้นตกไปอยู่ในมือคนที่รับซื้อสัตว์ป่าไปขาย เด็ก ๓ คนพยายามติดตามช่วยลูกชะนี จึงได้เปิดโปงเรื่องของพ่อค้าสัตว์ป่า

งานเขียนเรื่องนี้ค่อนข้างให้ภาพที่โหดร้ายของการฆ่าสัตว์ป่าตลอดทั้งเรื่อง จึงไม่เหมาะกับผู้อ่านที่เป็นเด็ก นอกจากนี้ผู้แต่งยังไม่มีความสามารถในการย่อยข้อมูลมาใช้ให้เหมาะสมกลมกลืนกับเรื่องที่เป็นบันเทิงคดี

คณะกรรมการจึงมีมติให้เรื่องนี้ ไม่ผ่านการคัดกรอง

4. 7 วันในโลกกะโหลกกะลา

เรื่องนี้เป็นเรื่องของเด็กชาวกรุงที่พ่อแม่พาไปสัมผัสกับบ้านป่าชนบทที่อยู่ท่ามกลางธรรมชาติและสัตว์นานาชนิด ทำให้เด็กสุขภาพดีขึ้นทั้งกายและใจ และมีสำนึกที่ดีต่อธรรมชาติแม้จะเป็นเรื่องที่กล่าวถึงมนุษย์กับธรรมชาติ ความร่มรื่น อุดมสมบูรณ์ ความสุขสงบและการผูกมิตรไมตรีระหว่างเด็กเมืองกับเด็กบ้านป่า แต่ไม่ได้เน้นเรื่องการป้องกันการทารุณสัตว์ตามวัตถุประสงค์ของการจัดประกวด

คณะกรรมการจึงมีมติให้เรื่องนี้ ไม่ผ่านการคัดกรอง

4. ประเภทหนังสือบันเทิงคดีประเภทร้อยแก้ว ระดับเด็กอายุ 15 ปี ขึ้นไป มีต้นฉบับส่งเข้าประกวด 2 เรื่อง ได้แก่

1) ตุ๊กตาเสียกบาล ผู้สร้างสรรค์ผลงานได้แก่

นายชัยกร หาญไฟฟ้า

2) รักนิรันดร์ ผู้สร้างสรรค์ผลงานได้แก่

นางศีตลา สนิทโกศัย

คณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองคุณภาพและตัดสินโดยใช้เกณฑ์การพิจารณา 4 ด้าน คือ

1. ความสอดคล้องของเนื้อหากับวัตถุประสงค์

2. ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์

3. กลวิธีในการนำเสนอและการจัดลำดับขั้น

ตอน

4. สำนวนโวหารและคุณลักษณะของ

วรรณศิลป์

ผลการพิจารณาตัดสินมีดังนี้

1. ตุ๊กตาเสียกบาล

เนื้อหาไม่ได้เกี่ยวกับการป้องกันทารุณสัตว์โดยตรง แต่ผู้เขียนพยายามสื่อให้เห็นว่ามนุษย์ต้องมีจิตสำนึกคือความเมตตาต่อสัตว์ เชื่อในกฎแห่งกรรม และยึดมั่นในหลักศีลธรรมซึ่งจะทำให้ไม่คิดที่จะฆ่าสัตว์หรือทรมานสัตว์ ผู้เขียนให้ตัวละครเป็นลูกจ้างในร้านที่ปรุงอาหารจากสัตว์ป่า สำนึกในความตายของสัตว์ป่าที่ถูกฆ่าในแต่ละวันตามความต้องการของคนกิน จึงปั้นตุ๊กตาเสียกบาลไว้เป็นอนุสรณ์แทนสัตว์เหล่านั้น ผู้เขียนให้ตุ๊กตาเสียกบาลตัวแรกที่ตัวละครปั้นไว้สะเดาะเคราะห์เมื่อลูกของเขาตายเป็นผู้เล่าเรื่อง ทำให้สามารถเล่าถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น รวมทั้งความรู้สึกนึกคิดของ “พ่อ” ที่ถ่ายทอดให้ตุ๊กตาฟัง เป็นกลวิธีการเล่าเรื่องที่แยบคาย มีมุมมองที่น่าสนใจ

จุดเด่นของเรื่องนี้คือการนำประเด็นเรื่องการเสพอาหารป่ามาเป็นเนื้อเรื่อง เพราะโดยทั่วไปเมื่อกล่าวถึงการทารุณสัตว์ คนจะนึกถึงการทุบตี การกักขัง การฆ่าเพื่อความสนุกหรือเพื่อบริโภค แต่มักจะไม่ค่อยคิดว่า การบริโภคเป็นการทารุณสัตว์เช่นกัน เพราะทำให้เกิดการฆ่า ทำให้เกิดธุรกิจขายอาหารป่า ทำให้เกิดธุรกิจขายสัตว์ป่า และทำให้มีการล่าสัตว์ป่ามาขาย วงจรอุบาทว์จึงต่อเนื่องไม่มีวันจบสิ้น หากเราตัดต้นตอปัญหาที่ผู้บริโภคได้ ก็จะตัดปัญหาอื่น ๆ ได้อีกมาก ดังนั้น การสร้างสำนึกแก่ผู้นิยมบริโภคอาหารป่าว่ากำลังสร้างบาปกรรม และเป็นผู้กระทำทารุณสัตว์โดยทางอ้อม จะช่วยป้องกันการรังแกเบียดเบียนสัตว์ป่าได้อีกทาหนึ่ง

นอกจากเนื้อหาดี ความคิดโดดเด่นแล้ว เรื่องนี้ยังแสดงฝีมือทางวรรณศิลป์ของผู้แต่งอีกด้วย

คณะกรรมการจึงมีมติให้เรื่องนี้ ได้รับรางวัลชนะเลิศ

2. รักนิรันดร์

เนื้อหาเป็นเรื่องราวของนกเงือก ผู้เขียนพยายามสื่อให้เห็นถึงธรรมชาติของนกเงือกที่มีรักเดียวใจเดียว รักครอบครัว แต่การนำเสนอมีลักษณะเป็นสารคดีมากกว่าบันเทิงคดี และแนวคิดของเรื่องไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของการประกวด

คณะกรรมการจึงมีมติให้เรื่องนี้ ไม่ผ่านการคัดกรอง

สรุปผลการประกวดหนังสือบันเทิงคดีประเภทร้อยแก้ว ระดับเด็กอายุ 12-14 ปี และระดับเด็กอายุ 15 ปี ขึ้นไป

หนังสือบันเทิงคดีประเภทร้อยแก้ว ระดับเด็กอายุ 12-14 ปี

มีต้นฉบับได้รับรางวัล 1 เรื่อง ดังนี้

รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ เรื่อง ใบเอียง ของ นายปรุงเกียรติ เทพกุญชร

หนังสือบันเทิงคดีประเภทร้อยแก้ว ระดับเด็กอายุ 15 ปี ขึ้นไป

มีต้นฉบับได้รับรางวัล 1 เรื่อง ดังนี้

รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ เรื่อง ตุ๊กตาเสียกบาล ของ นายชัยกร หาญไฟฟ้า

5. ประเภทหนังสือบันเทิงคดีประเภทร้อยกรอง ระดับเด็กอายุ 12-14 ปี มีต้นฉบับส่งเข้าประกวด 15 เรื่อง ได้แก่

1) มหัศจรรย์ผจญภัยในโลกกว้าง ผู้สร้างสรรค์ผลงานได้แก่

นางสาวขวัญชนก ทองล้วน และนายธีรวัฒน์ กล่าวเกลี้ยง

2) ป่าน่าลุ้น ผู้สร้างสรรค์ผลงานได้แก่ เด็กชายบุญยเกียรติ สะอาด

3) สัตว์โลกที่น่ารัก ผู้สร้างสรรค์ผลงานได้แก่ นายวรวุฒิ ภักดีบุรุษ

4) จากทุ่งหญ้ามาถึงสวนสัตว์ของเจ้าชมพู ผู้สร้างสรรค์ผลงานได้แก่

นางสาวสายสุดา หลังแดง

5) สงสารเจ้าชิน (จัง) ผู้สร้างสรรค์ผลงานได้แก่

นายธนเศรษฐ ชะวางกลาง

6) ลิขิตชีวิต ผู้สร้างสรรค์ผลงานได้แก่ นางสาวอรุณรัตน์ นาจาน

7) สายลับดาวกระต่าย ผู้สร้างสรรค์ผลงานได้แก่

นางจามรี ตันไพฑูรย์ดิถี

8) สหายต่างสายพันธุ์ ผู้สร้างสรรค์ผลงานได้แก่

เด็กหญิงเมธาวี แพอ่อน

9) เมตตามาเติมใจ ผู้สร้างสรรค์ผลงานได้แก่ นายอภัย สืบไทย

10) ความสุขของกุ๊กไก่ ผู้สร้างสรรค์ผลงานได้แก่ นายชวิน พงษ์ผจญ

11) ชีวิตของสุนัขที่ชื่อปุยฝ้าย ผู้สร้างสรรค์ผลงานได้แก่

นางนนทวรรณ บุญวงษ์

12) เพื่อนร่วมโลก ผู้สร้างสรรค์ผลงานได้แก่ นางกิ่งกาญจน์ สมจิตต์

13) ช้างป่ามาเมือง ผู้สร้างสรรค์ผลงานได้แก่

เด็กหญิงจำเริญลักษณ์ ทองล้วน

14) เด็กดอยใจดี ผู้สร้างสรรค์ผลงานได้แก่ นางศรีมาลา จตุพร

15) ดำแต่นอกในแผ้ว ผ่องเนื้อนพคุณ ผู้สร้างสรรค์ผลงานได้แก่

นางนงลักษณ์ ผายพิมาย

คณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองคุณภาพและตัดสินโดยใช้เกณฑ์การพิจารณา 4 ด้าน คือ

1. ความสอดคล้องของเนื้อหากับวัตถุประสงค์

2. ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์

3. กลวิธีนำเสนอและการจัดลำดับขั้นตอน

4. ความถูกต้องตามฉันทลักษณ์และคุณลักษณะของวรรณศิลป์

ผลการพิจารณาตัดสินมีดังนี้

1. มหัศจรรย์ผจญภัยในภัยโลกกว้าง

เนื้อหายังไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ของการประกวด การดำเนินเรื่องบางตอนสับสนเข้าใจยาก ไม่เหมาะสมกับวัยของผู้อ่าน

การใช้ภาษามีข้อบกพร่อง ใช้คำไม่เหมาะกับความ เช่น “ตกใจจนตัวโยน”

“เก้งกวางต่างคลุกคลาน วิ่งพล่านป่าหาทางไป”

คณะกรรมการจึงมีมติให้เรื่องนี้ ไม่ผ่านการคัดกรอง

2. ป่าน่าลุ้น

เนื้อหายังไม่ชัดเจนตรงตามวัตถุประสงค์ของการประกวด การใช้ภาษามีข้อบกพร่องมาก ทั้งสะกดคำผิดและใช้คำไม่เหมาะสม เช่น “ร้องลั่นจนปากอ้า”

ข้อบกพร่องด้านฉันทลักษณ์มีมาก ทั้งสัมผัสซ้ำ สัมผัสสั้น-ยาว

สัมผัสเรียงสระ

คณะกรรมการจึงมีมติให้เรื่องนี้ ไม่ผ่านการคัดกรอง

3. สัตว์โลกที่น่ารัก

เนื้อหาสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการประกวด

มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ โดยการนำวัฒนธรรมการดำรงชีวิตแบบไทยแท้สอดแทรกชีวิตวัยเด็กเป็นแกนดำเนินเรื่องอย่างเหมาะสม

มีกลวิธีการนำเสนอและการจัดลำดับขั้นตอนดี ผู้อ่านสามารถติดตามได้อย่างน่าสนใจ มีความถูกต้องตามฉันทลักษณ์หรือลักษณะของคำประพันธ์ และมีคุณค่าทางวรรณศิลป์

คณะกรรมการจึงมีมติให้เรื่องนี้ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ

4. จากทุ่งหญ้ามาถึงสวนสัตว์ของเจ้าชมพู

เนื้อหายังไม่ชัดเจนตรงตามวัตถุประสงค์ของการประกวด

การใช้ภาษามีข้อบกพร่อง เช่น “ทุกเชื่อวัน(ทุกเมื่อเชื่อวัน)” “อ้าปากเหวอ(อ้าปากหวอ)” ใช้คำไม่สื่อความหมาย เช่น “กลิ่นหึ่งหึ่งชวนให้จาม” “ขาดคนมายื่นดูแล” มีสะกดคำผิดหลายแห่ง เช่น งูสิงห์ (งูสิง) ยิ้มละมัย (ยิ้มละไม) ใย (ไย) ฯลฯ

ใช้คำไม่มีวรรณศิลป์ เช่น “โตใหญ่แสนลำเค็ญ” “เศร้าสร้อยและเหงาง่อย”ฯลฯ

คณะกรรมการจึงมีมติให้เรื่องนี้ ไม่ผ่านการคัดกรอง

5. สงสารเจ้าชิน (จัง)

เนื้อหายังไม่ชัดเจนตรงตามวัตถุประสงค์ของการประกวด การใช้ภาษามีข้อบกพร่องมาก เขียนสะกดคำผิด เช่น ใย (ไย) ไม่ได้กาล (ไม่ได้การ) อย่าร้องให้ (อย่าร้องไห้)

ด้านฉันทลักษณ์มีข้อบกพร่องมาก ได้แก่ สัมผัสสั้น-ยาว 14 แห่ง สัมผัสซ้ำ 20 แห่ง

คณะกรรมการจึงมีมติให้เรื่องนี้ ไม่ผ่านการคัดกรอง

6. ลิขิตชีวิต

เนื้อหายังไม่ชัดเจนตรงตามวัตถุประสงค์ของการประกวด การใช้คำไม่มีวรรณศิลป์ เขียนรูปแบบกาพย์ยานีไม่ถูกต้อง(ไม่มีย่อหน้าเมื่อขึ้นบทใหม่) นอกจากนี้ยังมีข้อบกพร่องอื่น ๆ เช่น ใช้คำไม่เหมาะความ เช่น “ร่วมปราบปรามความทารุณ” (ไม่ควรใช้ ความทารุณ กับ ปราบปราม) “สงสารแมวจรจัด ปล่อยตามวัดไม่สรรเสริญ”

“ชะนีร้องโหยหวน แสนรัญจวนเพื่อนอยู่ไหน” “แดดเผาดิ้นทุราย ต้องทุกข์ตรมไปไหนไหน”

“อย่าเสียนาม” ใช้ในความหมายอย่าเสียชื่อ ซึ่งมีความหมายเป็นนามธรรม

“หมีใหญ่ก็โดนจับ ตกพรางลับต้องทนฝืน” และตอนท้าย น้ำเสียง“บ่น”ไปจนจบ

คณะกรรมการจึงมีมติให้เรื่องนี้ ไม่ผ่านการคัดกรอง

7. สายลับดาวกระต่าย

เนื้อหาขาดอารมณ์สะเทือนใจ ภาษาไม่มีวรรณศิลป์ เขียนรูปแบบกาพย์ยานีไม่ถูกต้อง(ไม่มีย่อหน้าเมื่อขึ้นบทใหม่) ใช้คำไม่สื่อความหมาย เช่น “โน่นก็กระตายตาย นี่ก็ตายบินชนกัน”

“อบอุ่นใต้กองขน น้ำนมข้นหล่อเลี้ยงกาย” “สายลับดีดดิ้นหนี ตะกุยเล็บเพราะเจ็บหู”

มีฉีกความระหว่างวรรค เช่น

“ขนยาวขนสั้นหัว- แต้มจุดขาวถุงเท้าเทา” “เล็งยิ้มแล้วเล็งยิง- ฟันกระต่ายส่งสายตา”

“วันนี้เค้ามีของ- ขวัญแทนใจมาให้เธอ” “ของเล่นลูกแก้ว ดิน- น้ำมันใส่กล่องใบเตย”

จังหวะคำประพันธ์ไม่ดี เช่น

“ศูนย์ศูนย์เจ็ดน้อมรับ- ตอบว่าครับเสียงเบาเบา

ยกเท้าหลังขึ้นเกา หูติดเสาสัญญาณไฟ”

คณะกรรมการจึงมีมติให้เรื่องนี้ ไม่ผ่านการคัดกรอง

8. สหายต่างสายพันธุ์

เนื้อหาไม่น่าสนใจ ขาดอารมณ์สะเทือนใจ นำเสนอด้วยเนื้อเรื่องที่ไม่ส่งเสริมความขยันหรือเหตุผล มองโลกด้านเดียว คือ เ ห็นสัตว์ทำงานเป็นความเหนื่อยยาก ไม่สอนให้คนสู้งาน

ไม่มีวรรณศิลป์ ใช้คำไม่สื่อความหมาย เช่น

“ก้าวไปใจหมองมน หมาจรจัดโดนเรียกพลัน”

“สู้ไปในทุกวัน ไม่ย่อท้อขอสู้ตาย”

“แดดเผาตาลายราง แสนสงสารจึงชวนคุย”

“โกรธแค้นสัตว์ทั้งสี่ เจ้าพวกนี้ต้องเผาผลาญ”(ใช้ในความหมายต้องนำไปเผา)ฯลฯ

คณะกรรมการจึงมีมติให้เรื่องนี้ ไม่ผ่านการคัดกรอง

9. เมตตามาเติมใจ

เนื้อเรื่องไม่น่าสนใจ ไม่มีวรรณศิลป์ การนำเสนอเนื้อเรื่องน่าเบื่อ เหมือนบ่นไปเรื่อย ๆ

การใช้ภาษาไม่เหมาะสมกับวัยของผู้อ่าน และบางแห่งไม่สื่อความหมาย ใช้ภาษาพูด เช่น

“ปาณาห้ามฆ่าสัตว์ จิตวิรัติคิดทารุณ”

“หยุดเรียนอย่าหยุดรู้ เราไปดูหมู่สัตว์สม”

“เจ็บไข้ให้หายสิ้น ถวิลยาถ้าโรคมี”

“ถูกขังชั่งน่าปลง คนหลงใหลในรูปเสียง”

“เลี้ยงไก่นี่แคบ เลี้ยงกันแบบไม่รักหวง

แออัดยัดเป็นพวง ห่วงสัตว์นั้นมันเครียดเป็น” ฯลฯ

คณะกรรมการจึงมีมติให้เรื่องนี้ ไม่ผ่านการคัดกรอง

10. ความสุขของกุ๊กไก่

เนื้อหาตรงตามวัตถุประสงค์ของการประกวดครบถ้วน

มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ตัวละครสามารถสื่อให้ผู้อ่านได้รับความรู้เรื่องสุขอนามัยและคุณธรรมจริยธรรมอย่างแนบเนียน

มีกลวิธีในการนำเสนอและจัดลำดับขั้นตอนดี ไม่สับสน อ่านเข้าใจง่าย ชวนติดตาม และมี

อารมณ์สะเทือนใจ มีอรรถรสและสุนทรียภาพ

มีความถูกต้องตามฉันทลักษณ์หรือลักษณะของคำประพันธ์ และมีคุณลักษณะทางวรรณศิลป์ครบถ้วน

คณะกรรมการจึงมีมติให้เรื่องนี้ ได้รับรางวัลชนะเลิศ

11. ชีวิตของสุนัขที่ชื่อปุยฝ้าย

เนื้อเรื่องในตอนต้นน่าสนใจ แต่ตอนท้ายเกือบ 30 บท เน้นการอบรมสั่งสอนอย่างจงใจ ทำให้ขาดอรรถรส เนื้อเรื่องเศร้าเกินไป ไม่เหมาะสมกับวัยของผู้อ่าน

การใช้ภาษาไม่เหมาะสมกับวัยของผู้อ่าน มีการฉีกคำทำให้เสียความ เช่น

“หากินก็ไม่ทัน หมาตัวอื่นขมขื่นจัง” ใช้คำแบบกลอนพาไป เช่น “ดูช่างน่ารักจริงเอย”

มีเขียนสะกดคำผิดบางแห่ง เช่น ปรารมย์ (ปรารมภ์)

คณะกรรมการจึงมีมติให้เรื่องนี้ ไม่ผ่านการคัดกรอง

12. เพื่อนร่วมโลก

เนื้อเรื่องไม่สนุก ขาดอรรถรส

การใช้คำไม่มีวรรณศิลป์และยังมีข้อบกพร่องมาก เช่น ใช้สัมผัสสั้น-ยาว 14 แห่ง สัมผัสซ้ำ 11 แห่ง สัมผัสเลือน 4 แห่ง จังหวะคำประพันธ์ไม่เหมาะสม เช่น

“มอสองห้องทับห้า ศึกษาวิทยาโรงเรียน” ฯลฯ

คณะกรรมการจึงมีมติให้เรื่องนี้ ไม่ผ่านการคัดกรอง

13. ช้างป่ามาเมือง

เนื้อหาไม่น่าสนใจ พรรณนาความมากเกินไป

ใช้คำไม่เหมาะสมกับวัยของผู้อ่าน เช่น พระโพธิสัตว์เจ้า, เสวยชาติเป็นช้างพลาย, ช้างเป็นสัตว์หัวใจใส

ใช้คำไม่สื่อความหมาย เช่น “เทพเจ้าแห่งพงไพร คุณนิสัยแสนนุ่มนวล”

“นั่งตัวสั่นอยู่เทาเทา”

ผู้แต่งแสดงออกเหมือนต้องการให้คนเมืองซื้ออาหารให้ช้าง เช่น

“ กล้วยอ้อยที่เราซื้อ อาจช่วยยื้อต่อชีพได้

พรุ่งนี้เป็นอย่างไร จะมีไหมคนเมตตา”

ใช้คำเกินหลายแห่ง(ในวรรคหน้า) เช่น กินนมแม่ทั้งห้าตัว, แม่ลูกสามอยู่ที่บ้าน, ต่างชีวิตต่างพึ่งพา

คณะกรรมการจึงมีมติให้เรื่องนี้ ไม่ผ่านการคัดกรอง

14. เด็กดอยใจดี

เนื้อเรื่องไม่เหมาะสมกับวัยของผู้อ่าน เข้าใจยาก เพราะไม่ได้ปูพื้นฐานของเรื่องให้เข้าใจหรือน่าสนใจแต่แรก

การใช้ภาษาเน้นการพรรณนามากไปจนทำให้ขาดอรรถรสและวรรณศิลป์ มีการฉีกความและสะกดผิดด้วย เช่น “นักเรียนเพียรค้นคว้า ข้อมูลมาอย่างคราคร่ำ”(คลาคล่ำ)

“ล้มวัวสองตัวใหญ่ ฆ่าเป็ดไก่ให้สุขโข” (สุโข)

“คำสอนพรคุณครู ไม่เลิศหรูดูขันแข็ง

ล้ำค่าราคาแพง ด้วยว่าแฝงเป็นปรัชญา”

“สักหน่อยเห็นจ้อยกิ่ง ตั้งหน้าวิ่งผ่านเจ้าก้าน”(คงต้องการสื่อว่า”วิ่งหน้าตั้ง”แต่คงกลัวสัมผัสผิดที่)

“เก้งกวางพรางตัวอยู่ ยืนเคียงคู่เพื่อสู่สม

ไม่กล้าพารอชม กลิ่นกายถมลมกล้ำกลาย” (กล้ำกราย)

คณะกรรมการจึงมีมติให้เรื่องนี้ ไม่ผ่านการคัดกรอง

15. ดำแต่นอกในแผ้ว ผ่องเนื้อนพคุณ

การดำเนินเรื่องเยิ่นเย้อ ขาดอรรถรส ปลูกฝังความเชื่อที่ไม่เหมาะสม เช่น สุนัขของตนกัดนกได้กลับได้รับคำชมเชยเหมือนกับการทารุณสัตว์อีกชนิดหนึ่ง

การใช้ความเปรียบไม่เหมาะกับผู้อ่าน ใช้วิธีเสียดสี ใช้คำหยาบ เช่น “ไอ้ชาติหมา”

ลักษณะคำประพันธ์ ใช้คำเกินในวรรคแรก เช่น พ่อรู้ดีกว่าใครใคร, ไม่มีเงินซื้อปลาทูไม่มีสัมผัสในที่ที่ควรมี เช่น “อยากขอให้แมวน้อย ได้ดื่มนมพอเติบใหญ่”

“ของโปรดคือปลาทู มีให้กินมากเหลือเกิน” “สามตัวเกิดมาดำ แต่ใจเจ้านั้นประเทือง”

ภาษาไม่มีวรรณศิลป์ เช่น “ลูกแมวทั้งห้าตัว คอยมุดหัวแย่งเต้านม” ฯลฯ

คณะกรรมการจึงมีมติให้เรื่องนี้ ไม่ผ่านการคัดกรอง

6. ประเภทหนังสือบันเทิงคดีประเภทร้อยกรอง ระดับเด็กอายุ 15 ปี ขึ้นไป มีต้นฉบับส่งเข้าประกวด 6 เรื่อง ได้แก่

1) อบอุ่นบุญรัก ผู้สร้างสรรค์ผลงานได้แก่ นายปรุงเกียรติ เทพกุญชร

2) สุสานไอยรา ผู้สร้างสรรค์ผลงานได้แก่ นายกัมปนาท แสงทอง

3) ดวงสมพงษ์ คือตัวอย่างของร่างร้าน ผู้สร้างสรรค์ผลงานได้แก่

นายคำรพ เกิดมีทรัพย์ นายชำนาญ นาคินทร์ และนางสาวสิริพร กลับแก้ว

4) เมตตาไม่ทารุณ ผู้สร้างสรรค์ผลงานได้แก่ นายอภัย สืบไทย

5) พญาสีดอ ผู้สร้างสรรค์ผลงานได้แก่ นางสาวพิมพรัตน์ คันธฐากูร

6) เจ้าทองเหลือง เรืองรอง ทองเนื้อเก้า ผู้สร้างสรรค์ผลงานได้แก่ นางธารรัก สาฆะ

คณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองคุณภาพและตัดสินโดยใช้เกณฑ์การพิจารณา 4 ด้าน คือ

1. ความสอดคล้องของเนื้อหากับวัตถุประสงค์

2. ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์

3. กลวิธีนำเสนอและการจัดลำดับขั้นตอน

4. ความถูกต้องตามฉันทลักษณ์และคุณลักษณะของวรรณศิลป์

ผลการพิจารณาตัดสินมีดังนี้

1. อบอุ่นบุญรัก

เนื้อหาสาระตรงตามวัตถุประสงค์ของการประกวด คือ มุ่งให้เด็กรักและเมตตาสัตว์

บทร้อยกรองมีอรรถรส ถูกต้องตามฉันทลักษณ์และมีคุณลักษณะของวรรณศิลป์ครบถ้วนการดำเนินเรื่องน่าสนใจ อ่านเพลิดเพลิน ชวนให้ติดตามเรื่อง มีกลวิธีการนำเสนอและการจัดลำดับขั้นตอนที่ดีมาก อ่านเข้าใจง่ายไม่สับสน มีการจัดตัวละครเป็นทั้งผู้ใหญ่และเด็ก มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ดี สามารถนำวัฒนธรรมประเพณีไทยมาสอดแทรกไว้อย่างแนบเนียน

เนื้อเรื่องมีคุณธรรม สัมพันธภาพในครอบครัว มีคติธรรม เช่น การไปทำบุญ เด็กอยู่ในโอวาทของพ่อแม่ ครอบครัวอบอุ่น โดยเฉพาะข้อเสนอการไม่ทารุณสัตว์เสนอได้ชัดเจนครบถ้วนในทางบวก ทำให้เรื่องบรรลุวัตถุประสงค์ของการประกวด

คณะกรรมการจึงมีมติให้เรื่องนี้ ได้รับรางวัลชนะเลิศ

2. สุสานไอยรา

เนื้อเรื่องกล่าวถึงสัตว์ถูกทารุณ เป็นภาพโหดร้าย ไม่ก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และสุนทรียรสแก่เด็กและเยาวชน

คณะกรรมการจึงมีมติให้เรื่องนี้ ไม่ผ่านการคัดกรอง

3. ดวงสมพงษ์ คือ ตัวอย่างของร่างร้าน

เนื้อหาแคบเกินไปไม่เหมาะสมกับเยาวชนอายุ 15 ปี ขึ้นไป การนำเสนอเรื่องการเลี้ยงไก่ชนเป็นกีฬาที่ขัดกับจุดประสงค์ของการประกวด

การใช้ภาษามีข้อบกพร่องบ้าง เช่น การสลับคำคู่ทำให้ผิดความหมาย เช่น

“มีเรือกสวนนาไร่ไม่แลดู” ความหมายในที่นี้ต้องการใช้คำว่า “ดูแล” ใช้คำผิด/ไม่ตรงความหมายเช่น “กลัวแมงวันต้องหลบนอนซบเซา ถ้าแผลเน่าเป็นหนอนก็ร้อนตัว” “วันก่อนชนนายช่วงบวงสรวงจ้าว” “เดือยซ่อมเสียบในตาข้างขวาบอด”

คณะกรรมการจึงมีมติให้เรื่องนี้ ไม่ผ่านการคัดกรอง

4. เมตตาไม่ทารุณ

เนื้อเรื่องมีสาระด้านการปฏิบัติต่อสัตว์อย่างไม่ทารุณครบถ้วน แต่มุ่งสาระมากกว่าอารมณ์สะเทือนใจ ขาดลักษณะของบันเทิงคดี การดำเนินเรื่องมีวกวนบ้าง

ด้านฉันทลักษณ์มีสัมผัสสั้น-ยาว เช่น สรรเสริญ-เงิน

การใช้คำบางวรรคไม่สื่อความหมาย เช่น

“ปลาเคยว่ายงามสง่าธาราพราง เอาขังไว้คงอ้างว้างโอ้อาวรณ์”

มีสะกดคำผิดบ้าง เช่น ทุพลภาพ (ทุพพลภาพ) ยัดเหยียด (ยัดเยียด) ผมสม (ผสม) ใช้ความเปรียบไม่ถูกต้อง เช่น เปรียบได้กับยักษ์ปอป (ผีปอป)

ใช้สลับคำคู่ทำให้เสียความ เช่น “ปล่อยสัตว์ให้หิวกระหายร้ายนิสัย”

คณะกรรมการจึงมีมติให้เรื่องนี้ ไม่ผ่านการคัดกรอง

5. พญาสีดอ

เนื้อหาสาระยังมีส่วนขัดแย้งกับวัตถุประสงค์ของการประกวด เพราะเสนอเรื่องทารุณสัตว์โดยตลอด แต่มีอรรถรสและมีอารมณ์สะเทือนใจ ตอนแรกอาจจะบีบคั้นจิตใจผู้อ่านอยู่บ้าง แต่ตอนท้ายก็หักมุมจบได้อย่างน่าประทับใจ

มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ดี สามารถนำเหตุการณ์ทั่วไปมาร้อยเรียงให้น่าสนใจ

มีกลวิธีการนำเสนอและการจัดลำดับขั้นตอนดี ผู้อ่านจะเกิดความรู้สึกถูกบีบคั้นจิตใจมากขึ้นตามลำดับ

มีความถูกต้องตามฉันทลักษณ์และคุณลักษณะของวรรณศิลป์ดี

คณะกรรมการจึงมีมติให้เรื่องนี้ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ

6. เจ้าทองเหลือง เรืองรอง ทองเนื้อเก้า

เนื้อหาไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการประกวด สอนในทางที่ผิด เช่น การพนันตีไก่ เด็กหญิงขายตัว จำนำ จำนอง เข้าบ่อน แม้จะสรุปท้ายว่าดีรับโทษ ก็เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม เป็นการเสนอแบบอย่างที่ไม่ถูกต้องแก่เด็ก โดยเฉพาะความสัมพันธ์ในครอบครัว ไม่เหมาะสมกับเยาวชนเป็นอย่างยิ่ง

คำกลอนถูกต้องตามฉันทลักษณ์ แต่มีข้อบกพร่องในการใช้ภาษา สะกดคำผิด เช่น “บ้างเอาหินขว้างปาเป็นอาจินต์ ”(อาจิณ) “ทั้งหงอนแดงปีกขนเหลื่อมเป็นมัน” (เลื่อม)

“จิตเบิกบานแย้มแย้มเป็นสุขขี” (ยิ้มแย้ม, สุขี) นอนตะแครง (ตะแคง) ละลาตา (ละลานตา) เสกสรร (เสกสรร)

พิมพ์ขาด/เกิน เช่น “มองออกไปหน้าเสียงเกรียวกราว”

“ฝ่ายน้องหนูขวัญยิ้มหวานสะท้านจิต ป๋าคือผู้สร้างชีวิต…ดั่งใฝ่ฝัน” ต้องใช้ “ฝันใฝ่” จึงจะถูกต้องตามฉันทลักษณ์

คณะกรรมการจึงมีมติให้เรื่องนี้ ไม่ผ่านการคัดกรอง

สรุปผลการประกวดหนังสือบันเทิงคดีประเภทร้อยกรอง ระดับเด็กอายุ 12-14 ปี และระดับเด็กอายุ 15 ปี ขึ้นไป

หนังสือบันเทิงคดีประเภทร้อยกรอง ระดับเด็กอายุ 12-14 ปี

มีต้นฉบับได้รับรางวัล 2 เรื่อง ดังนี้

รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ เรื่อง ความสุขของกุ๊กไก่

ของ นายชวิน พงษ์ผจญ

รางวัลรองชนะเลิศ ได้แก่ เรื่อง สัตว์โลกที่น่ารัก

ของ นายวรวุฒิ ภักดีบุรุษ

หนังสือบันเทิงคดีประเภทร้อยกรอง ระดับเด็กอายุ 15 ปี ขึ้นไป

มีต้นฉบับได้รับรางวัล 2 เรื่อง ดังนี้

รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ เรื่อง อบอุ่นบุญรัก

ของ นายปรุงเกียรติ เทพกุญชร

รางวัลรองชนะเลิศ ได้แก่ เรื่อง พญาสีดอ

ของ นางสาวพิมพรัตน์ คันธฐากูร

วาระที่ 3 เรื่องสืบเนื่องเพื่อทราบ

เมื่อคณะกรรมการทั้ง 3 กลุ่มตามรายชื่อดังกล่าวข้างต้นได้ประชุมเพื่อสรุปผลการพิจารณาตัดสินหนังสือแต่ละประเภทเสร็จแล้ว คณะกรรมการทั้ง 3 คณะได้กลับมาประชุมร่วมกันอีกครั้ง ประธานแต่ละคณะได้เสนอผลการพิจารณาตัดสินการประกวดฯ โดยสรุปดังนี้

สรุปผลการประกวดหนังสือประเภทหนังสือการ์ตูนและหนังสือบันเทิงคดี ระดับเด็กอายุ 3-5 ปี

หนังสือการ์ตูน มีต้นฉบับส่งเข้าประกวดทั้งหมด 7 เรื่อง ต้นฉบับที่สมควรได้รับรางวัลมี 2 เรื่อง ดังนี้

รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ เรื่อง คำสาป

ของ นายก้องเกียรติ กองจันดี

รางวัลรองชนะเลิศ ได้แก่ เรื่อง ของขวัญ

ของ นายประมวลพจน์ สนิทโกศัย

หนังสือบันเทิงคดี ระดับเด็กอายุ 3-5 ปี มีต้นฉบับส่งเข้าประกวดทั้งหมด 6 เรื่อง ต้นฉบับที่สมควรได้รับรางวัลมี 1 เรื่อง ดังนี้

รางวัลรองชนะเลิศ ได้แก่ เรื่อง เราเหมือนกัน

ของ นายก้องเกียรติ กองจันดี

สรุปผลการประกวดหนังสือบันเทิงคดีประเภทร้อยแก้ว ระดับเด็กอายุ 12-14 ปี และระดับเด็กอายุ 15 ปี ขึ้นไป

หนังสือบันเทิงคดีประเภทร้อยแก้ว ระดับเด็กอายุ 12-14 ปี มีต้นฉบับส่งเข้าประกวดทั้งหมด 4 เรื่อง ต้นฉบับที่สมควรได้รับรางวัลมี 1 เรื่อง ดังนี้

รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ เรื่องใบเอียง

ของ นายปรุงเกียรติ เทพกุญชร

หนังสือบันเทิงคดีประเภทร้อยแก้ว ระดับเด็กอายุ 15 ปี ขึ้นไป มีต้นฉบับส่งเข้าประกวดทั้งหมด 2 เรื่อง ต้นฉบับที่สมควรได้รับรางวัลมี 1 เรื่อง ดังนี้

รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ เรื่อง ตุ๊กตาเสียกบาล

ของ นายชัยกร หาญไฟฟ้า

สรุปผลการประกวดหนังสือบันเทิงคดีประเภทร้อยกรอง ระดับเด็กอายุ 12-14 ปี และระดับเด็กอายุ 15 ปี ขึ้นไป

หนังสือบันเทิงคดีประเภทร้อยกรอง ระดับเด็กอายุ 12-14 ปี มีต้นฉบับส่งเข้าประกวดทั้งหมด 15 เรื่อง ต้นฉบับที่สมควรได้รับรางวัลมี 2 เรื่อง ดังนี้

รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ เรื่อง ความสุขของกุ๊กไก่

ของ นายชวิน พงษ์ผจญ

รางวัลรองชนะเลิศ ได้แก่ เรื่อง สัตว์โลกที่น่ารัก

ของ นายวรวุฒิ ภักดีบุรุษ

หนังสือบันเทิงคดีประเภทร้อยกรอง ระดับเด็กอายุ 15 ปี ขึ้นไป มีต้นฉบับส่งเข้าประกวดทั้งหมด 6 เรื่อง ต้นฉบับที่สมควรได้รับรางวัลมี 2 เรื่อง ดังนี้

รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ เรื่อง อบอุ่นบุญรัก

ของ นายปรุงเกียรติ เทพกุญชร

รางวัลรองชนะเลิศ ได้แก่ เรื่อง พญาสีดอ

ของ นางสาวพิมพรัตน์ คันธฐากูร

มติที่ประชุม รับทราบ

ปิดประชุมเวลา 12.30 น.

นางสาวพริ้มเพรา คงธนะ

นางสาวลดาวัลย์ บุญชด

นายอนุจินต์ ลาภธนาภรณ์

บันทึกการประชุม