จัดสัมมนาเครือข่ายป้องกันการทารุณสัตว์

สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA)

จัดสัมมนาเครือข่ายป้องกันการทารุณสัตว์

เรื่อง “มาตรการเพื่อสวัสดิภาพสัตว์ 5 ประการ กับการทารุณสัตว์ในประเทศไทย”

สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) ได้เป็นเจ้าภาพจัดการสัมมนา เรื่อง “มาตรการเพื่อสวัสดิภาพสัตว์ 5 ประการ กับการทารุณสัตว์ในประเทศไทย” ขึ้นที่โรงแรมเคปราชา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ระหว่างวันที่ 6 – 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2553

ในงานสัมมนาดังกล่าวมีบุคคลและองค์กรที่รณรงค์สิทธิสัตว์จำนวนกว่า 100 คนได้เข้าร่วมสัมมนา ซึ่งได้มีการหยิบยกประเด็นการทารุณสัตว์ในมิติต่าง ๆ ขึ้นมาแสดง เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และหาแนวทางร่วมกัน เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ ได้มีวิทยากรรับเชิญซึ่งได้แก่ น.สพ.อลงกรณ์ มหรรณพ นายสัตวแพทย์ช่วยราชการสำนักพระราชวัง เป็นผู้กล่าวนำสัมมนา โดยได้ย้ำให้เห็นถึงสภาพการทารุณสัตว์ในประเทศไทยซึ่งแผ่ขยายครอบคลุมทั้งสัตว์บ้าน สัตว์ป่า สัตว์เศรษฐกิจและสัตว์ทดลอง โดยเฉพาะเสือและช้างได้กลายเป็นประเด็นปัญหามิใช่เฉพาะภายในประเทศเท่านั้นแต่ยังส่งผลกระทบไปยังนานาชาติอีกด้วย

สำหรับนายกสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) คุณธีระพงศ์ ปังศรีวงศ์ ได้มีคำถามไปยังผู้เข้าร่วมสัมมนาและองค์กรสิทธิสัตว์ว่า ทำอย่างไรจึงจะพัฒนาเครือข่ายร่วมกันเพื่อให้ทุกภาคส่วนมีเอกภาพในการรณรงค์ยุติการกระทำทารุณสัตว์ในประเทศ โดยได้เน้นให้เห็นประโยชน์ของความร่วมมือร่วมกันอันจะนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้การทารุณสัตว์ยุติลง

นอกจากนี้ในการสัมมนา ได้เปิดเวทีให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาทุกท่านได้เปิดอภิปราย เสนอปัญหา ตลอดจนนำเสนอแนวทางแก้ปัญหา การเสนอกรณีศึกษาที่หน่วยงานและองค์กรของตนได้ดำเนินการอยู่ เพื่อเป็นการนำเสนอตัวอย่างการแก้ไขปัญหาที่ประสบผล ซึ่งองค์กรที่ได้นำเสนอประสบการณ์ของตนต่อที่สัมมนา ประกอบด้วย ล้านนา ด็อก เรสคิว ประจำจังหวัดเชียงใหม่ โครงการสัตว์จรจัดที่เกาะช้าง มูลนิธิ ซอยด็อก จังหวัดภูเก็ต โครงการแคร์ ฟอร์ ด็อกประจำจังหวัดเชียงใหม่ มูลนิธิสวนแก้ว จังหวัดนนทบุรี สมาคมสงเคราะห์สัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ มูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติสนองพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ชมรมช่วยสัตว์ยากไร้จังหวัดลพบุรี ชมรมปลาทะเลไทย มูลนิธิม้าลำปาง สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกัน ฯลฯ

นับเป็นโอกาสอันสำคัญยิ่งสำหรับผู้เข้าร่วมสัมมนาที่ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ แนวทางการแก้ปัญหา ตลอดถึงการแลกเปลี่ยนอุปสรรคในการทำงาน ซึ่งการสัมมนาครั้งนี้ถือเป็นเวทีสำหรับทุกคนและทุกองค์กรเพื่อร่วมเป็นเครือข่ายสนับสนุนซึ่งกันและกัน อันจะยังประโยชน์ให้แก่การพัฒนาคุณภาพชีวิตทั้งของคนและสัตว์ต่อไป