ประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อนที่มีความหลากหลายของพันธุ์ปลาหลายร้อยชนิด ซึ่งต่อมาประชานชนเพิ่มจำนวนมากขึ้น ได้มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติกันอย่างมากมาย จนส่งผลกระทบต่อชนิดและปริมาณพันธุ์ปลาในธรรมชาติ จนกระทั่งมีความจำเป็นต้องมีการกำหนดมาตรการคุ้มครองพันธุ์ปลาที่หายากใกล้จะสูญพันธุ์ ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 โดยกำหนดควบคุมการห้ามทำการจับ ล่า ทำอันตราย การครอบครองเลี้ยงดู การค้า การเพาะพันธุ์ การนำเข้า ส่งออก ซึ่ง ปัจจุบันมีพันธุ์ปลาที่ได้รับการคุ้มครองจำนวน 14 ชนิด ดังนี้
- ปลาตะพัดหรือปลาอโรวาน่า (Scleropages formosus)
- ปลาเสือตอ ปลาเสือหรือปลาลาด (Coius microlepis)
- ปลาติดหินหรือปลาค้างคาว (Oreoglanis siamensis)
- ปลาหมูอารีย์ (Botia sidthimunkii)
- ปลาฉลามวาฬ (Rhincodon typus)
- ปลาจาดถ้ำ (Poropuntius speleops)
- ปลาพลวงถ้ำ (Neolissochilus subterraneus)
- ปลาผีเสื้อถ้ำ (Cryptotora thamicola)
- ปลาค้อถ้ำ (Nemacheilus troglocataractus)
- ปลาค้อตาบอด (Schistura oedipus)
- ปลาค้อจารุธานินธร์ (Schistura jaruthanini)
- ปลาค้อถ้ำพระวังแดง (Schistura spiesi)
- ปลาค้อถ้ำพระไทรงาม (Schistura deansmarti)
- ปลาชะโอนถ้ำ (Pterocryptis buccata)
โดยปลาตะพัดและปลาเสือตอเป็นปลาที่ประชาชนสามารถนำมาเลี้ยงได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายโดยผู้เลี้ยงต้องได้รับใบอนุญาตให้เลี้ยงจากกรมประมง ส่วนปลาชนิดอื่นๆนั้นไม่สามารถนำมาเลี้ยงได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ดังนั้น ผู้ที่นิยมเลี้ยงปลาสวยงามดังกล่าวไว้ดูเล่น จึงจำเป็นต้องเรียนรู้ระเบียบและเงื่อนไขของกฎหมายด้วย เพื่อจะได้ไม่เป็นการกระทำผิดโดยไม่ตั้งใจ เนื่องจากบทลงโทษค่อนข้างจะรุนแรงคือ ปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท จำคุกไม่เกินสี่ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
ที่มา บทความโดย นายประพันธ์ ลีปายะคุณ