เหตุเกิดจาก “ปลาสองแผ่นดิน”

จากกรณีที่ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ข่าวสด ได้นำเสนอข่าว เมนู “ปลาสองแผ่นดิน” ของร้านอาหาร 16 เตชินท์ ตั้งอยู่ที่ ต.ตะพง อ.เมือง จ.ระยอง (ริมหาดแม่รำพึง) ซึ่งเปิดเมนู “ปลาสองแผ่นดิน”ที่ใช้ปลาเก๋าเป็นๆ นำมาขอดเกล็ดทั้งที่ยังดิ้นอยู่ ก่อนนำผ้าเย็นมาพันที่หัวปลาจนถึงพุง จากนั้นนำไปทอดจนสุก ในขณะที่ปลากำลังดิ้นอยู่นั้น ทำให้หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องรวมทั้งประชาชน และชาวบ้านในระแวกไกล้เคียง ต่างออกมาคัดค้านการเปิดเมนูดังกล่าว ทำให้เจ้าของร้าน คือ น.ส.อัญชลี ขุนฤทธิ์ และแม่ครัวผู้ที่ทำหน้าที่ปรุงเมนูดังกล่าว คือ นางสังวาลย์ อยู่ในสุข อายุ 50 ปี ยุติการทำเมนู “ปลาสองแผ่นดิน” ทันที

ทั้งนี้ น.ส.อัญชลี ขุนฤทธิ์ เจ้าของร้าน ได้เล่าถึงสาเหตุที่เปิดเมนู “ปลาสองแผ่นดิน” ขึ้นมา ว่า มิได้มีเจตนาที่จะทรมานสัตว์แต่อย่างใด โดยบอกว่า เมนู “ปลาสองแผ่นดิน” ที่ทำนั้น เป็นสูตรอาหารเก่าแก่จากคุณปู่ที่อพยพมาจากประเทศจีน ประมาณ 100 กว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งเมนูนี้ใช้เป็นเมนูในวันเปิดร้าน (14 ก.พ. 50) เพียงวันเดียวเท่านั้น เนื่องจากมีคนที่รู้จักกันแนะนำว่า ในวันเปิดร้านซึ่ง มีสื่อมวลชนบางสื่อที่รู้จักกันมาร่วมแสดงความยินดีด้วย และแนะนำว่า ควรจะมีเมนูที่แปลกแตกต่างจากที่อื่น ตนเองเลยนึกถึงอาหารที่เป็นสูตรของคุณปู่ ซึ่งคุณปู่บอกว่าเป็นยาชูกำลัง กินมากๆ จะช่วยให้ร่างกายแข็งแรง จึงได้นำสูตรดังกล่าวมาทำโชว์ในวันเปิดร้าน เพื่อเป็นจุดขายเหมือนเป็นกลยุทธทางการตลาด ตามที่มีคนแนะนำ ซึ่ง น.ส.อัญชลี บอกว่า ตนเองก็ผิดพลาดที่ไม่ได้นึกถึงในเรื่องของกระทำที่เป็นการทรมานหรือทารุณสัตว์ นึกเพียงว่าจะใช้วิธีใดในการทำให้ร้านเป็นที่รู้จักของ คนทั่วไป โดย น.ส.อัญชลี ย้ำกับทางสมาคมฯ และ ทีมงานผู้ผลิตรายการสีสันตะวันออก ทางเคเบิ้ล ทีวีภาคตะวันออก ว่าไม่คิดว่าข่าวที่ออกมาจะแรง และมีผลกระทบกับทางร้านขนาดนี้ ซึ่งภาพที่ออกมาทางสื่ออาจดูรุนแรงและบิดเบือนไปจากความเป็นจริง แต่ตนกเองก็ไม่ขอแก้ตัวใดใด และขอยืนยันว่าทางร้านได้เลิกทำเมนูนี้ ตั้งแต่หลังจากวันเปิดร้าแล้ว

หากมองในแง่ของสังคมไทย ซึ่งเป็นเมืองพุทธ การจะบริโภคเนื้อสัตว์ก็ควรจะทำให้ตาย เสียก่อน ก่อนที่จะนำมาบริโภค ซึ่งกระบวนการฆ่าก็ต้องไม่เป็นการทรมานหรือทารุณสัตว์ด้วยเช่นกัน ซึ่งในส่วนนี้ เมนู “ปลาสองแผ่นดิน” ของร้านอาหาร 16 เตชินท์ หากเป็นจริงตามที่ข่าวออกมา ถือว่าเป็นการทารุณสัตว์ เนื่องจากกระบวนการปรุงเริ่มจากนำปลาเก๋ามาขอดเกล็ดให้หมดแล้วนำ มาล้าง ก่อนจะใช้ผ้าเย็นที่แช่จนเย็นจัดพันส่วนหัวจนถึงพุงปลา แล้วใช้มีดบั้งตัวปลา ตั้งแต่ส่วนหางขึ้นมาจนถึงกลางลำตัว ในระหว่างนั้นก็ตั้งกระทะใส่น้ำมันลงไป รอให้เดือดเต็มที่แล้วก็นำหางปลาช่วงที่บั้งจุ่มลงไปทอดครึ่งตัว ทำให้ปลาดิ้นอยู่ตลอดเวลาด้วยความเจ็บปวด ผู้ปรุงต้องใช้คีมคีบหัวปลาเอาไว้เพื่อรอจนเนื้อปลาสุกเป็นสีเหลือง จึงยกขึ้นนำมาวางบนจานแล้วแต่งด้วยเครื่องเคียง พร้อมเสิร์ฟลูกค้า ซึ่งกระบวนการดังกล่าว เป็นภาพที่หวาดเสียวและเป็นการกระทำที่ทารุณสัตว์ สังคมไทยถือว่าผิดศีลธรรม

ดังนั้น สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย(TSPCA) ในฐานะเป็นองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และได้พยายามรณรงค์ในเรื่องของการป้องกันการทารุณสัตว์ เพื่อยุติการกระทำทารุณสัตว์ โดยการเผยแพร่องค์ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับสัตว์ สวัสดิการ การรณรงค์ให้มีกฎหมายคุ้มครองสวัสดิภาพสัตว์ รวมถึงการพัฒนาความร่วมมือกับภาครัฐ และเอกชน ที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนามาตรฐานการปฏิบัติต่อสัตว์อย่างถูกต้องมาโดยตลอด นำโดย คุณสวรรค์ แสงบัลลังค์ เลขาธิการสมาคมฯ พร้อมเจ้าหน้าที่สมาคมฯ อาสาสมัคร และ สื่อมวลชน (สีสันตะวันออก) จึงได้เดินทางไปเยี่ยม น.ส.อัญชลี ขุนฤทธิ์เพื่อแสดงเจตนารมณ์ที่ดี และแสดงความขอบคุณที่ทางร้านได้ยกเลิกเมนูดังกล่าวไปแล้ว พร้อมกับร่วมพูดคุยกับ น.ส.อัญชลี ขุนฤทธิ์เกี่ยวกับการให้อิสรภาพ 5 ประการแก่สัตว์ ประกอบด้วย อิสรภาพจากความหิวโหย อิสรภาพจากความไม่สะดวกสบาย อิสรภาพจากความเจ็บปวดและอันตราย อิสรภาพจากความกลัวและความเครียด และอสรภาพที่จะแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติของสัตว์ โดยมี นางสมพร หุนมาตรา เจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชน 6 , นางวิมล ปฏิพัทธ์พงศ์ เจ้าพนักงานเภสัชกรรม 6 กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระยอง ร่วมเป็นสักขีพยานในการไปเยี่ยมครั้งนี้ด้วย.