สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการครั้งแรกของเมืองไทย

สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) ร่วมกับกรมปศุสัตว์ และสภาทนายความ จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการครั้งแรกของเมืองไทย หวังพัฒนาเครือข่าย NGOs ทั่วประเทศ ผลักดันกฎหมายการป้องกันการทารุณสัตว์ในไทยให้ทัดเทียมมาตรฐานนานาชาติ

เมื่อวันที่ 7 ก.ค.2550 ที่ผ่านมา ดร.สงคราม ธรรมมิญช เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาเครือข่ายการป้องกันการทารุณสัตว์และการพัฒนาสวัสดิภาพในประเทศไทย ภายใต้หัวข้อ “ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ประเทศไทยควรจะมี พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณสัตว์และพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์ดังเช่นนานาอารยประเทศ” โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชนและภาคประชาชนที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศกว่า 60 องค์กรเข้าร่วม

การสัมมนาฯ ดังกล่าวจัดขึ้นโดยความร่วมมือของสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (Thai Society for the Prevention of Cruelty to Animals หรือ TSPCA) กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสภาทนายความร่วมจัดกิจกรรมเพื่อให้ทุกภาคส่วนของสังคมได้ตระหนักและร่วมกันผลักดัน พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณสัตว์และพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์ของประเทศไทย ให้บรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่กำลังจะเกิดขึ้น เพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพสัตว์ในประเทศให้มีความปลอดภัยรอดพ้นจากการถูกทารุณกรรมจากน้ำมือมนุษย์มากขึ้น โดยการจัดกิจกรรมครั้งนี้นับเป็นการเปิดเสวนา พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณสัตว์ครั้งแรกของประเทศไทย

นายธีระพงศ์ ปังศรีวงศ์ นายกสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การจัดสัมมนาครั้งนี้มีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นต่างๆ นานา ตลอดจนปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานจากผู้เกี่ยวข้องด้านสัตว์ในทุกภาคส่วนของประเทศ เพื่อจุดประกายความสนใจในชีวิตและความเป็นอยู่ของสัตว์ โดยกล่าวว่า … ที่ผ่านมากฎหมายของไทย ยังไม่ครอบคลุมเนื้อหาเกี่ยวกับสัตว์มากเท่าที่ควร ส่งผลให้ไม่มีความชัดเจนในการบังคับใช้กฎหมายที่พึงควรกระทำต่อสัตว์ ทั้งที่หลากหลายประเทศทั่วโลกออกมาให้ความสำคัญถึงมาตรฐานดังกล่าวมาเป็นเวลานานแล้ว ประกอบกับวิวัฒนาการความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
บนโลกที่มีความรุดหน้าอยู่ตลอดเวลา ทำให้ปัญหาการทารุณสัตว์ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย

ทั้งนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่สมาคมฯ จะผลักดันเรื่องดังกล่าวให้มีความคืบหน้า โดยในอนาคต สมาคมฯจะผนึกกำลังกับหลายหน่วยงาน การดำเนินการถึงจะมีความชัดเจน ที่ผ่านมานักการเมืองไทยยังมองข้ามปัญหาดังกล่าวไป จนเกิดปัญหาขึ้นแล้วในระดับหนึ่ง อาทิ มีการห้ามนำเข้ากุ้งจากประเทศไทยเพราะต่างชาติเห็นว่าเป็นอันตรายต่อปลาโลมา การส่งออกเนื้อสัตว์ที่มีการตรวจสอบมากขึ้นเพราะมาตรฐานด้านสวัสดิภาพสัตว์ของประเทศไทย ยังขาดความน่าเชื่อถือกับสายตาต่างประเทศ ซึ่งตรงนี้ภาครัฐควรให้ความสำคัญเพราะอาจมองดูว่า เรื่องของสัตว์ไม่กระทบกับคน แต่ทว่าปัญหาดังกล่าวกลับส่งผลกระทบหลากหลายด้าน ทั้งภาคเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและอื่นๆ อีกมาก